มูลนิธิเอเชียแปซิฟิกแห่งแคนาดาเป็นผู้นำภารกิจคณะผู้ประกอบการสตรีชาวแคนาดาเยือนเกาหลีใต้และไทย


โตรอนโต ออนแทรีโอ, Nov. 24, 2023 (GLOBE NEWSWIRE) -- มูลนิธิเอเชียแปซิฟิกแห่งแคนาดา (The Asia Pacific Foundation of Canada) ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐและภาคเอกชนในแคนาดา เกาหลีใต้ และไทย มีความยินดีที่จะประกาศว่ามูลนิธิจะเป็นผู้นำโครงการ Smarter Living: The Canadian Women-only Business Mission to South Korea and Thailand (การอยู่อาศัยที่อัจฉริยะกว่าเดิม: ภารกิจคณะผู้ประกอบการสตรีชาวแคนาดาเยือนเกาหลีใต้และไทย) ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม พ.ศ. 2566 โดยทางคณะผู้แทนจะมาเยือนกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายน

ประเทศไทยเปิดโอกาสทางการค้าสำคัญ ๆ ให้บริษัทต่าง ๆ ของแคนาดา เนื่องจากมีสถานะเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยฐานการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่งและภาคการผลิตที่เติบโตและสนับสนุนการส่งออก ไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคทำให้บริษัทต่าง ๆ สามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ประมาณ 600 ล้านคนภายในรัศมี 3,000 กม. เป็นการส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน

ปี พ.ศ. 2565 การค้าแบบทวิภาคีระหว่างแคนาดากับไทยมีมูลค่า 6.4 พันล้านดอลลาร์แคนาดา ในขณะที่ภาคบริการมีมูลค่าสูงถึง 314 ล้านดอลลาร์แคนาดาในปี พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ คาดว่าการเติบโตด้านการค้าสินค้าและบริการของแคนาดากับไทยจะเกิดขึ้น หากมีการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อาเซียน-แคนาดา ซึ่งประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงนี้ด้วย นอกจากนี้ ข้อมูลจาก APF Canada Investment Monitor ยังแสดงให้เห็นว่าการลงทุนแบบทวิภาคีระหว่างแคนาดากับไทยมีมูลค่าสูงถึง 7.4 พันล้านดอลลาร์แคนาดา ระหว่างปี พ.ศ. 2546 ถึง 2565

ด้วยนโยบาย 'ประเทศไทย 4.0' ของรัฐบาล มีการกำหนดให้ภาคการดูแลสุขภาพเป็นภาคที่มีความสำคัญสำหรับการลงทุน ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ประเทศยังคงพยายามตอบสนองความต้องการของประชากรสูงวัยด้วยการพัฒนาภาคการแพทย์ภายในประเทศ นอกจากนี้ เทคโนโลยีสะอาดจะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลไทย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 ความพยายามนี้รวมถึงการลดคาร์บอนในทุกภาคส่วน โดยเน้นที่ภาคพลังงานเป็นพิเศษ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 ถึง พ.ศ. 2570 ประเทศไทยจะให้สิ่งจูงใจเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติในภาคเทคโนโลยีขั้นสูง ภาคนวัตกรรม และภาคการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่นสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า การผลิตรถยนต์ที่ใช้ไฮโดรเจน และการผลิตไฮโดรเจน

ภารกิจของคณะผู้ประกอบการสตรีชาวแคนาดาเยือนเกาหลีใต้และไทย (The Canadian Women-only Business Mission to South Korea and Thailand) เป็นส่วนหนึ่งภารกิจปี พ.ศ. 2566-2568 ในชื่อตะวันออกเฉียงเหนือ X ตะวันออกเฉียงใต้: การพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างแคนาดากับเอเชีย (Northeast X Southeast: Advancing Partnerships Between Canada and Asia) ของมูลนิธิ และถือเป็นภารกิจครั้งที่เจ็ดของคณะผู้ประกอบการสตรีแคนาดาเยือนเอเซียของมูลนิธิเอเชียแปซิฟิกแห่งแคนาดา (APF Canada’s Women’s Business Missions to Asia Series)

ภารกิจในประเทศไทยจะเน้นที่ภาคเทคโนโลยีสะอาด เทคโนโลยีด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งยังให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่ผู้ประกอบการสตรีชาวแคนาดานำมาสู่ภาคส่วนดังกล่าว ตรงนี้จะเป็นโอกาสที่ดีในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างผู้ประกอบการสตรีชาวแคนาดากับบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทย พร้อมกับส่งเสริมการค้าที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ, สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกระตุ้นความเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศระหว่างบริษัทของแคนาดากับเศรษฐกิจของไทยที่มีพลวัตและกำลังเติบโต

ภารกิจคณะผู้ประกอบการสตรีชาวแคนาดาเยือนเกาหลีใต้และไทย(The Canadian Women-only Business Mission to South Korea and Thailand) จะประกอบด้วยการประชุมแบบสาธารณะที่จะมีขึ้นในประเทศไทยโดยมีวิทยากรระดับสูงจากรัฐบาล ภาคธุรกิจ และวิชาการ เช่น ฯพณฯ ท่านปิง คิตนีกอน (H.E. Ping Kitnikone) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย ลาว และกัมพูชา ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คุณเกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณเฮ จูน พาร์ค (Ms. Hye June Park) ประธาน แอสเพนทรีคอร์ปอเรชั่น (The Aspen Tree Corporation) คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Techsauce and Thailand Accelerator คุณลิซ่า เพียร์ซ (Ms. Lisa Pierce) รองประธาน ฝ่ายขายระหว่างประเทศของแอร์แคนาดา (Air Canada) และแอร์แคนาดาเวเคชั่น (Air Canada Vacations) คุณสิตามนินท์ สุสมาวัตนะกุล กรรมการผู้จัดการ OH!Rich คุณพีระพรรณ ตั้งสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มงานผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Regional Healthcare Group) เบเกอร์ แมคเคนซี่ และคุณซาร่า วิลชอว์ (Ms. Sara Wilshaw) รัฐมนตรีช่วยของแคนาดาและหัวหน้ากรรมาธิการการค้า ฯลฯ

วิทยากรและผู้เข้าร่วมประชุมจะหารือกันเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ด้านการค้าระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค, ความเท่าเทียมทางเพศในระบบเศรษฐกิจด้วยเป้าหมายที่จะส่งเสริมสถานะทางเศรษฐกิจของสตรี และการสนับสนุน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ผู้แทนทั้ง 19 คนที่มาเยือนไทยจะเข้าร่วมการจับคู่ระหว่างธุรกิจ (B2B matchmaking), การนำเสนอบริษัทและโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับผู้เข้าร่วมการประชุม

ภารกิจคณะผู้ประกอบการสตรีชาวแคนาดาเยือนเกาหลีใต้และไทย (The Canadian Women-only Business Mission to South Korea and Thailand) ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลแคนาดาผ่านกระทรวงการพัฒนานวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจ แคนาดา (Innovation, Science and Economic Development Canada)

ลิงก์สำคัญ:

การติดต่อ:
ข้อมูล:
ดร.เอ.ดับเบิลยู. ลี (A.W. Lee, Ph.D.) ผู้อำนวยการ ฝ่ายการค้าระหว่างประเทศที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคน (Inclusive International Trade)
มูลนิธิเอเชียแปซิฟิกแห่งแคนาดา (Asia Pacific Foundation of Canada)
aw.lee@asiapacific.ca

สื่อ:
ไมเคิล โรเบิร์ตส์ (Michael Roberts) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร
มูลนิธิเอเชียแปซิฟิกแห่งแคนาดา (Asia Pacific Foundation of Canada)
michael.roberts@asiapacific.ca

ติดตามเราได้ที่ X : @AsiaPacificFdn
ร่วมกับเราใน LinkedIn: APFCanada
กดไลก์เฟซบุ๊ก: Asia Pacific Foundation of Canada